นโยบาย

ให้ความรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแก่ประชาชนทุกภาคส่วนและสนับสนุนการมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะกับร่วมตรวจสอบผลการดำเนินการ สนับสนุนการมีกฎหมายทำประชามติสำหรับปัญหาทางการเมืองที่สำคัญยิ่งเพื่อลดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองอันอาจนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย การนองเลือดและสงครามกลางเมืองได้ในอนาคต
ปรับปรุงการบริหารและบริการเป็นระบบดิจิทัลให้ประชาชนสามารถติดต่อและ รับบริการจากทางราชการได้ทุกวันโดยไม่มีวันหยุดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง สำหรับกิจกรรมที่ทางราชการสามารถให้บริการได้ตามที่กำหนด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและนักปกครองท้องที่เกษียณอายุราชการ เมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ โดยให้มีสิทธิรับบำนาญและสิทธิสวัสดิการเช่นเดียวกับข้าราชการ
เสนอแก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบสัมมาชีพ และดำรงชีวิตเป็นปกติของประชาชน เลือกปฏิบัติและเอื้อประโยชน์แก่บางกลุ่ม อย่างไม่เท่าเทียม
ยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรอัยการ องค์กรในกระบวนการยุติธรรม องค์กรกึ่งศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและหรือหน่วยงานทั้งปวงที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินและหรือเงินอื่นใดกับสิทธิประโยชน์ใดๆจากรัฐ ท้องถิ่น หรือท้องที่ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรใดๆของรัฐ หน้าที่และอำนาจของตำแหน่งใดและของส่วนราชการใด หน่วยงานใด องค์กรใด ๆ รวมทั้งยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบของทางราชการที่ไม่เป็นธรรมที่บังคับใช้แก่ประชาชน

ให้ความรู้แก่ประชากรทุกช่วงวัย มีสติปัญญา คุณธรรมและจริยธรรมและศักยภาพเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามความถนัดและความสามารถทั้งจากการศึกษาในระบบนอกระบบ จาก ทุกสื่อและนวัตกรรมเพื่อให้สามารถประกอบสัมมาชีพได้ทุกหนทุกแห่ง ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียน การสอน การสอบ การวัดผลที่ทันสมัยให้สามารถเทียบโอนผลการเรียนข้ามศาสตร์ทั้งสายวิชาชีพ-สายวิชาการได้อย่างเป็นธรรมและเล็งผลเลิศได้

จัดให้มีสถาบันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและความสงบสุขของบ้านเมือง (สพค.ปสบ.)(INSTITUTE FOR THE DEVELOPMENT OF THE QUALITY OF LIFE OF THE PEOPLE AND THE PEACE OF THE COUNTRY:IDQLPPC) เพื่อเป็นแหล่งรวมทางวิชาการ วิชาชีพ และประสบการณ์ทุกแขนงจากผู้มีความรู้และประสบการณ์จริงจากหลากหลายสาขาอาชีพและวิชาชีพมาเผยแพร่แก่มวลสมาชิกและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการศึกษาของพรรคท้องที่ไทย

ยกระดับสินค้าเกษตรในท้องที่ต่าง ๆ ให้มีมูลค่าสูงโดยใช้นวัตกรรมแปรรูป เชิงอุตสาหกรรม พัฒนาและปรับปรุงและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงนิเวศ เชิงสร้างสรรค์ เชิงวัฒนธรรมเชิงธรรมชาติและเชิงสุขภาพ หาแหล่งทุนโดยรัฐค้ำประกันให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงไปยังท้องที่ที่มีกำลังการผลิตสูงและยั่งยืน
พัฒนาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของภาคเกษตรกรรม โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละท้องที่ ส่งเสริมเกษตรชีวภาพ เป็นเกษตรอัจฉริยะที่ปลอดภัยแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภท เน้นผลผลิตทางการเกษตรแปรรูปเพื่ออุตสาหกรรม รักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม พัฒนาพลังงานสะอาดจากธรรมชาติเป็นทางเลือกให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายลง
พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อการบริการสาธารณสุขโดยใช้นวัตกรรมสื่อที่ทันสมัยในทุกมิติร่วมกับนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อปฏิรูปการจัดการดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยและหรือประสบอุบัติเหตุหรือสาธารณะภัยในภาวะฉุกเฉิน โรคระบาดประจำถิ่น โรคระบาดระดับชาติและหรือโรคระบาดนานาชาติ มาตรการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนให้ปลอดโรคและมีสุขภาวะที่ดี การบริบาลทารก เด็ก คนชรา คนพิการ ณ ที่อยู่อาศัยโดยครอบครัวและหรือญาติพี่น้องตามมาตรฐานสาธารณสุข
สนับสนุน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยี สารสนเทศเสริมการทำงานเชิงระบบให้แก่ทุกกลุ่มอาชีพ กับให้มีการตั้งกองทุนเพื่อการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับทุกกลุ่มอาชีพแก่ประชากรทุกช่วงวัยให้มีงานทำเพิ่มกำลังผลิตสินค้าและบริการกับมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ
พัฒนาท้องที่ชนบท โดยคำนึงถึงรากฐานทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของแต่ละท้องที่ ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของแต่ละอาชีพ รักษา อนุรักษ์และเผยแพร่ ภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านในแต่ละท้องที่ให้เป็นมรดกของสังคมและบ้านเมืองสืบไปโดยใช้นวัตกรรมและสื่อประสมรูปแบบต่าง ๆที่เหมาะสมให้เข้าถึงประชาชนทุกท้องที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ศึกษาประวัติศาสตร์ อนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาของแต่ละท้องที่อย่างจริงจัง
  1. เสนอนโยบายเพิ่มค่าตอบแทน สิทธิ สวัสดิการต่าง ๆให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)รวมทั้งให้มีระบบบำนาญหลังจากเกษียณอายุราชการและหรือหมดวาระตามที่จะได้มีการกำหนดไว้
  2. เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 ให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร
  3. เสนอแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อการเกษตร ปรับปรุงกลไกและวิธีการบริหารจัดการน้ำเพิ่มความมั่นคงของทุกลุ่มน้ำทั้งระบบให้ประชาชนมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร อุปโภคและบริโภคอย่างเหมาะสม ยั่งยืนและเป็นธรรมในแต่ละท้องที่ รวมทั้งฟื้นฟู อนุรักษ์แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ให้เป็นแหล่งน้ำของประชาชนอย่างแท้จริง
  4. สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังทุกรูปแบบและต่อเนื่อง
  5. เสนอนโยบายที่เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการข้าวแนวใหม่เพื่อแก้ปัญหา ที่หมักหมมทับซ้อนมายาวนานทั้งปวงให้ชาวนาทั้งประเทศ ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ผู้ค้าส่งข้าวออกต่างประเทศและผู้บริโภคข้าวในประเทศได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน พยุงฐานะของชาวนาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังและเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ดียิ่ง ๆขึ้นไปและส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศฟื้นตัวแข็งแกร่งอย่างรวดเร็ว